top of page

GEMSTONE

idenTIFICATION REPORT
with
origin

aaaaaaaaa เวลาเราไปเดินซื้อพลอยสักเม็ดหนึ่ง โดยเฉพาะพลอยตระกูลคอรันดัม (พลอยเนื้อแข็ง) มักจะมีตัวอักษรเขียนกำกับไว้กับพลอยนั้นๆ เช่น Ceylon Sapphire, Mozambique Ruby คำเหล่านี้เป็นคำที่แสดงถึงต้นกำเนิดของพลอย (Origin) นั่นเอง แล้วทีนี้ เจ้า Origin เนี่ยมันสำคัญขนาดไหน ทำไมถึงต้องเขียนประดับไว้เวลาขายหรือเขียนไว้บนใบรับประกันพลอย (Gemstone Identification Report) ด้วย

1. พลอยชนิดเดียวกันแต่ต่างต้นกำเนิดจะแตกต่างกันหรือไม่ ?

 

aaaaaaaaa ขอยกตัวอย่างทับทิม (Ruby) ที่เป็นพลอยเนื้อแข็งสีแดงเหมือนกัน แต่ถ้าต่างต้นกำเนิด จะมีสีและตำหนิธรรมชาติที่ต้องส่องด้วยกล้องจึงจะเห็นก็ต่างกัน เช่น


Thailand - ทับทิมสยามจากเหมืองในจังหวัดจันทบุรี ส่วนใหญ่มีสีแดงอมม่วง มีตำหนิขนนก
Burma - ทับทิมพม่าจากเหมืองโมก๊ก (Mogok) ส่วนใหญ่มีสีแดงอมชมพูหวาน มีตำหนิเข็ม หรือเส้นไหมรูทิลสั้นๆ
Pakistan - ทับทิมจากหุบเขาฮันซ่า (Hunza Valley) สีพลอยจะคล้ายพม่าแต่มีตำหนิมากกว่า
Sri Lanka - ศรีลังกามีทับทิมก็จริง แต่คุณภาพส่วนใหญ่ก็ไม่สู้พม่าและมีตำหนิเข็มหรือเส้นไหมรูทิลยาวๆ

aaaaaaaaa จะเห็นว่าพลอยต่างที่มาก็จะมีคุณภาพแตกต่างกันไป ก็จะขึ้นอยู่กับลูกค้าแล้วว่าให้คุณค่ากับแหล่งที่มาไหนมากกว่ากัน ชอบสีไหนมากกว่า ชอบราคาของตัวไหนมากกว่า อย่างพม่าสีชมพูหวานๆ หรือจะแดงไทยหายาก ใส่แล้วดูแพง หรือจะโมซัมบิกที่หาง่ายและราคาย่อมเยาว์ 

 

"...สีและตำหนิทำให้พ่อค้าพลอยพอเดาได้ว่าพลอยมาจากที่ไหน
แต่ก็ไม่สามารถบอกได้แม่นยำ 100%
ถ้าอยากมั่นใจก็ต้องมีใครสักคนรับประกัน..."

2. ใครกันที่ออกใบรับประกัน แล้วทำไมไม่ออกใบรับประกันให้กับพลอยทุกเม็ดล่ะ ?

aaaaaaaaa ผู้ที่บอกเราได้ว่าพลอยเม็ดนี้มาจากไหนคือสถาบันตรวจวิเคราะห์อัญมณีซึ่งมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์พลอย ผลการวิเคราะห์จะออกมาเป็นใบรับประกัน (หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าใบเซอร์ (ย่อมาจาก Certificate)) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าเป็นพลอยที่มีคุณสมบัติอย่างไร ถูกปรับปรุงคุณภาพมาด้วยวิธีไหนบ้าง ถิ่นกำเนิดมาจากไหน เฉดสีเป็นอย่างไร ตำหนิเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน เรียกได้ว่าสร้างความอุ่นใจให้ผู้ซื้อได้มากทีเดียว 

aaaaaaaaa พวกพลอยเม็ดใหญ่ๆ เนื้อสะอาด สีสวยมากๆ นิยมทำเซอร์ ถ้าเซอร์แล้วได้ถิ่นกำเนิดที่ตรงกับความนิยม ก็จะสามารถขึ้นค่าตัวได้สุดๆ เช่น พลอยทับทิมแดงเลือดนกแต่ไม่รู้ว่ามาจากที่ไหน พอเอาไปทำเซอร์ ได้แหล่งที่มาเป็นไทย พลอยเม็ดนี้ก็จะมีคุณค่าในสายตาคนไทย แต่ในต่างประเทศอาจไม่เห็นค่าก็เป็นได้ แต่บางครั้งเม็ดใหญ่แล้วไม่เซอร์ก็มี เพราะพลอยมีความก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจน เกิดทำเซอร์ไปแล้วราคาหล่น สู้เก็บใบเซอร์ไว้แล้วโกหกลูกค้าไปว่ามาจากแหล่งที่มาที่ได้ราคาดีก็มี 

aaaaaaaaa แล้วพลอยเม็ดเล็กๆล่ะ ต้องทำใบรับประกันไหม อันนี้เป็นคำถามที่ดี การทำใบรับประกัน 1 ใบจะต้องเสียค่าทำใบรับประกันประมาณ 2,800 บาท* (อ้างอิงข้อมูลจากราคาใบเซอร์พลอยขนาดไม่เกิน 1.00 กะรัตพร้อมระบุแหล่งกำเนิดพลอยจากสถาบัน GIA ณ วันที่ 20-6-19)ซึ่งบางครั้งแพงกว่าแหวนทั้งวงเสียอีก ถ้าพ่อค้าขายเครื่องประดับจะต้องทำใบเซอร์ให้กับแหวนสัก 100 วง ก็คงต้องมีเงินสัก 280,000 บาท เวลาขาย สมมติว่าแหวนราคา 4,000 บาท ทำใบรับประกันอีก 2,800 บาท รวมเป็น 6,800 บาท ดังนั้นจึงส่งผลให้พ่อค้าต้องเพิ่มทุนในการทำใบรับประกัน เวลาขาย ก็ขายแพงขึ้นด้วย

aaaaaaaaa สรุปง่ายๆ พลอยเม็ดเล็กไม่นิยมทำใบรับประกัน เพราะพ่อค้าจ่ายไม่ไหวนั่นเอง ในมุมกลับ ลูกค้าซื้อเครื่องประดับ 4,000 บาทจะมีกี่คนที่ยินดีจ่ายเงินทำเซอร์ ดังนั้นการค้าเครื่องประดับพลอยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญของพ่อค้าและความไว้ใจจากลูกค้าล้วนๆ แต่ปัจจุบันมีใบเซอร์ขนาดเล็ก หมายถึง ใบรับประกันที่บอกว่าเป็นพลอยอะไร แท้หรือไม่ ซึ่งมีค่าบริการตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันต้นๆ เหมาะกับลูกค้าต้องการทำเพื่อตรวจสอบและตนเองยังดูพลอยไม่เป็นนั่นเอง

aaaaaaaaa แล้วแบบนี้หมายความว่าพ่อค้าจะไม่รับผิดชอบหรือ ว่าสินค้าที่คุณขายเนี่ย แท้หรือปลอม มาจากประเทศไหนก็ไม่ชัวร์ อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายของแต่ละร้านเลยครับ อย่าง SO JEWEL ของเราจะมีเงื่อนไขว่า...

 

"...สำหรับเครื่องประดับที่ไม่มีใบรับประกัน
หากคุณไปทำใบรับประกันแล้วผลออกมาไม่ใช่อย่างที่ทางเราบอก
คุณเอามาคืนได้เลย เรายินดีคืนเงินเต็มจำนวน
นอกจากนี้ยังสามารถมาเก็บค่าออกใบรับประกันจากเราได้ด้วย..."

3. เราสามารถเชื่อถือใบรับประกันจากที่ไหน ?

aaaaaaaaa งานเข้าสิครับ แล้วผมจะไปทำใบรับประกันที่ไหนดี จะบอกว่าหลายๆครั้งที่พ่อค้าพลอยกับ Lab จับมือกันต้มตุ๋นลูกค้าก็มีนะ เช่น พ่อค้าบอก Lab ว่า ช่วยออกใบรับประกันให้พลอยเม็ดนี้เป็นพลอยพม่า สีแดงอมชมพู ทั้งๆที่เป็นพลอยโมซัมบิค แต่สีแดงอมส้ม ถ้าขายได้ เราเอาเงินมาแบ่งกัน (ก็มันได้ส่วนแบ่งเยอะนี่นา) อย่างไรก็ตาม ถ้า Lab ถูกจับได้ว่า ต้มตุ๋นเพียงครั้งเดียว ชื่อชั้นใบเซอร์ของสถาบันนั้นจะขาดความน่าเชื่อถือไปในทันที แล้วสถาบันนั้นก็จะไม่มีใครใช้บริการอีก

 

"...อย่าลืมว่าพลอย 1 เม็ดจะออกใบเซอร์จากกี่สถาบันและกี่ครั้งก็ได้

จึงไม่แปลกเลยที่ลูกค้าหลายคนทำใบรับประกันหลายครั้ง

กับพลอยมูลค่าสูงเพียงเม็ดเดียว..."

aaaaaaaaa ยังดีที่ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมอัญมณี จึงมีสถาบันที่น่าเชื่อถือมากมายเพราะแต่ละสถาบันก็ต้องรักษาชื่อเสียงของตัวเองไม่ให้ด่างพร้อย เช่น GIA, GRS, AIGS, GIT และ Lotus ซึ่งชื่อสถาบันที่ผมกล่าวมานี้ มีความน่าเชื่อถือในระดับมาก สามารถรับประกันให้เราได้ว่าพลอยแท้หรือไม่ และต้นกำเนิดมาจากไหน แต่การประกันพลอยของแต่จะ Lab จะต่างกันออกไปในรายละเอียด เช่น ใบเซอร์ของ Lotus จะมีการระบุเฉดสี และชื่อการค้าให้ด้วย เช่น แดงอมม่วง น้ำเงินคอร์นฟลาวเวอร์ เป็นต้น

สรุป

aaaaaaaaa สรุปสั้นๆ พลอยแต่ละเม็ดมีแหล่งกำเนิดเป็นของตนเอง พลอยชนิดเดียวกันแต่ต่างแหล่งกำเนิด จะมีเฉดสีและตำหนิที่แตกต่างกัน การให้คุณค่าของผู้สวมใส่แต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนพึงพอใจในสีและแหล่งกำเนิดนี้ ก็จะตั้งคุณค่าให้พลอยสีและแหล่งกำเนิดนี้มาก ส่งผลให้ราคาตลาดสูงขึ้น สำหรับพลอยคุณภาพดีมักจะมีใบรับประกันเพราะจะช่วยให้ผู้ครอบครองรู้สึกสบายใจ แต่พลอยบางเม็ดอาจไม่มีใบรับประกันด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น พ่อค้าตั้งใจหลอกลวง หรือ พ่อค้าไม่สามารถทำใบรับประกันให้กับสินค้าทุกชิ้นของตนเอง อย่างไรก็ตาม ใบรับประกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้ารู้จักและเห็นคุณค่าของพลอยที่ตนเองสวมใส่มากขึ้น ส่วนแหล่งที่มา ราคาและตำหนิในพลอยที่ลูกค้ายอมรับได้นั้น แต่ละคนยอมรับในระดับที่แตกต่างกันไป จึงเป็นเรื่องของความพอใจของแต่ละคนนั่นเอง


----------------------------------------------------------
 

ที่มา

https://www.gemsociety.org/article/ruby-sapphire-identifying-origin-understanding-value-rarity-gem-
corundum/
https://buygemstone.info/2017/03/10/what-lab-or-certification-is-the-best-for-checking-your-
expensive-ruby-sapphire-or-emerald/

bottom of page