top of page

HEATED

BUT NOT DIFFUSED

 

aaaaaaaaa การเดินทางของอัญมณีจากใต้พิภพมาสู่เครื่องประดับที่เราสวมใส่กันทุกวันนี้ ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆมากมาย ตั้งแต่พลอยดิบ เจียระไนให้มีเหลี่ยมสวยงาม พลอยบางเม็ดเจียรเหลี่ยมแล้วสวยเลย พร้อมลงตัวเรือน เราเรียกกันว่า "พลอยสด" (Unheated) ประเด็นมันอยู่ที่ว่าพลอยสดที่สวยงามนั้นมีน้อยมาก มนุษย์เราอยากให้พลอยทุกเม็ดมีความสวยงามถึงขีดสุดจึงพยายามหาวิธีที่จะปรับปรุงคุณภาพพลอย คำถามคือ วิธีใดที่เป็นที่ผู้สวมใส่ยอมรับ ปลอดภัยและสวยงามทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา วันนี้ผมจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจการปรับปรุงคุณภาพพลอยที่แบ่งออกเป็น 4 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้
 

1. การใช้ความร้อน (Heat)

 

aaaaaaaaa ภาษาในวงการเรียกว่า "เผาเก่า" หรือจะเรียกว่าหุงพลอยหรือเผาพลอยก็ได้ วิธีนี้เป็นวิธีโบราณ ก่อนเผาต้องทำความสะอาดด้วยกรด และอาจเติมสารที่ทำให้พลอยไม่ติดกันในเวลาเผา แต่สารนี้จะไม่ซึมเข้าเนื้อพลอย การเผาพลอยต้องควบคุมอุณหภูมิและเวลาในการเผา มีทั้งการเผาให้สีเข้มขึ้นและอ่อนลงซึ่งคนไทยมีฝีมือและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก นอกจากพลอยเนื้อแข็งอย่างตระกูลคอรันดัมแล้วยังมีพลอยอีกหลายชนิดที่นิยมเผาเช่น อะความารีน มอร์กาไนต์ ซิทริน อะเมทิสต์ แทนซาไนต์ ทัวร์มาลีนและเพทาย เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ สี ความสดใสและคุณภาพใหม่ที่ได้จะมีความคงทนถาวร วิธีนี้เป็นที่ยอมรับในทางการค้า จึงไม่แปลกเลยที่กว่า 90% ของไพลินและทับทิมในท้องตลาดล้วนผ่านการปรับปรุงคุณภาพโดยใช้การเผา 

2. การใช้ความร้อนร่วมกับการเติมสารเคมี (Diffusion)

aaaaaaaaa หรือเรียกว่าการซ่านสี ส่วนภาษาในวงการเรียกว่า "เผาใหม่ หรือ Diffused" การเผาใหม่นี้ คือการใช้ความร้อนร่วมกับสารเคมีที่ทำให้เกิดสีเช่น แก้ว ตะกั่ว หรือเบอริลเลี่ยม (Be) หากถามว่าในวงการพลอยนั้นยอมรับการเผาใหม่หรือไม่ ต้องดูว่าพลอยคืออะไร สารเคมีนั้นคืออะไรและมีผลคงทนหรือไม่

 

2.1 การเผาแก้วตะกั่ว

aaaaaaaaa สำหรับแก้วกับตะกั่ว สารนี้จะซึมเข้าไปประสานรอยแตกและทำให้พลอยมีสีสวยขึ้น แต่หากมองด้วยกล้องดีๆจะพบว่ามีสีแสงสะท้อนแปลกๆในบริเวณรอยแตกเพราะเคมีที่เติมเข้าไปทำให้การหักเหของแสงนั้นเปลี่ยนไป สีที่ซึมนี้ซึมเพียงบริเวณผิวตื้นๆ หากนำไปเจียระไน ส่วนที่เคลือบก็จะหายไป นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไปสารเคมีก็เสื่อมสภาพหรือได้รับความร้อน รอยแตกก็กลับมาเหมือนเดิม วิธีนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นเมื่อลูกค้าสวมใส่เครื่องประดับพลอยเผาใหม่ไปนานๆ จึงสงสัยว่ามีตำหนิในพลอยเกิดขึ้นมาได้อย่างไรทั้งๆที่สวมใส่อย่างระมัดระวังแท้ๆ  

 

2.2 การเผาเบอริลเลียม

aaaaaaaaa วิธีนี้ใช้สารเบอริลเลียมที่ไม่มีสีร่วมกับความร้อนทำให้เนื้อพลอยทำให้สีสวยขึ้นและคงทน การเผาเบอริลเลียมเป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับเฉพาะพลอยคอรันดัมสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งก็คือบุษราคัมและเขียวส่องนั่นเอง

 

3. การใช้รังสี (Irradiation)

 

aaaaaaaaa เป็นการอาบรังสีซึ่งบางชนิดใช้ความร้อนร่วมด้วย ผลลัพธ์ที่ได้นี้ไม่คงทน สีพลอยอาจจางลงเมื่อพลอยกระทบแสงหรือโดนความร้อน การอาบรังสีนี้นิยมใช้กับเพชร พลอยตระกูลคอรันดัม ควอตซ์ ทัวร์มาลีน เป็นต้น มีพลอยอย่างโทแพซ ใช้วิธีอาบรังสีแล้วนำไปเผา ก็ช่วยให้สีคงอยู่ทนนานขึ้นด้วย 

 

4. วิธีการอื่นๆ

aaaaaaaaa วิธีการอื่นๆ เช่น การย้อมสี เคลือบสี อุดรู อุดรอย อุดหลุม เติมน้ำมันหรือเติมแก้วให้ซึมเข้าไปในเนื้อพลอยไม่ให้ผู้สวมใส่เห็นรูพรุน ทำให้สีมีความเสมอกันมากขึ้น ผิวเงาเรียบสวยและแข็งแรงมากขึ้น นิยมใช้ในพลอยที่มีรูพรุนมากๆ อย่างมรกตหรือพลอยหลังเบี้ยต่างๆ 

SO JEWEL ใช้พลอยแบบไหน ?

aaaaaaaaa So Jewel ของเรามีความเชี่ยวชาญด้านพลอยธรรมชาติโดยเฉพาะพลอยตระกูลคอรันดัมอย่างไพลิน และทับทิม เรามีปณิธานว่าอยากให้ผู้สวมใส่เครื่องประดับได้ใส่เครื่องประดับสวยๆไปนานๆ จึงเลือกการปรับปรุงคุณภาพพลอยประเภทเผาเก่ากับไพลินและทับทิมเท่านั้น ส่วนพลอยชนิดอื่นๆ เราเลือกใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพโดยคำนึงถึงชนิดของพลอยควบคู่กับคุณภาพและราคาของพลอยในท้องตลาด เพราะเราอยากให้คุณลูกค้าได้สวมใส่เครื่องประดับที่สวยงามไปนานๆในราคาที่สมเหตุสมผลนั่นเอง

----------------------------------------------------------

ที่มา

http://it.geol.science.cmu.ac.th/gs/courseware/218100/218100_CH2part2_1.pdf
http://bgl.chanthaburi.buu.ac.th/file_article/4.pdf
http://www.luckyjewelista.com/article/10/การปรับปรุงคุณภาพของพลอยบางกะจะ

bottom of page